วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เด็กประถม อ่านหนังสือไม่ออก !!!

เผยเด็กประถมอ่านไม่ออกถึง 4.6 หมื่น แยก 3 กลุ่ม-เสนอวิธีแก้ปัญหา “จาตุรนต์” ลุยสั่งปรับการสอนภาษาไทย...

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายปฏิรูปการศึกษา เรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน การเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องสื่อสารได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานผลการสแกนนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ล่าสุดพร้อมเสนอวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.นักเรียนอ่านไม่ได้ มีทั้งสิ้น 45,929 คน เป็น ป.3 จำนวน 33,084 คน คิดเป็น 6.43% และ ป.6 จำนวน 12,845 คน คิดเป็น 2.51% การแก้ปัญหาจำเป็นต้องสอนวิธีที่หลากหลาย เช่น จดจำรูปสระ ใช้บทเพลงหรือบทร้องนิทาน แบบฝึกทักษะ หนังสือแนวสอนซ่อมเสริม รวมทั้งพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่สำหรับชั้น ป.1 จำนวน 600,000 เล่ม 2.นักเรียนกลุ่มที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องบ้างมี 365,420 คน แบ่งเป็น ป.3 จำนวน 184,598 คน คิดเป็น 35.89% และนักเรียน ป.6 จำนวน 180,822 คน คิดเป็น 35.40% ซึ่งต้องพัฒนาวิทยากรแกนนำทุกเขตพื้นที่การศึกษา และจัดแข่งทักษะภาษา และกลุ่มที่ 3 คือนักเรียนที่อ่านได้และเข้าใจเรื่องดี ควรได้รับการส่งเสริมตามแผนยุทธศาสตร์และมาตรการตามโครงการ PISA
รักษาการ รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ตนขอให้ สพฐ.ไปคิดต่อเรื่องการดูแลการเรียนการสอนภาษาไทยทั้งระบบว่า ความรู้ภาษาไทยที่เหมาะสมกับเด็กในระบบการศึกษาควรเป็นอย่างไร แล้วโยงกับการทดสอบวัดผลความรู้สมรรถนะด้านภาษาไทยที่เป็นมาตรฐานสากล เพราะขณะนี้ผู้บริหารและผู้สอนพบปัญหามากว่าเด็กที่สอบได้ในวิชาที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ไม่สามารถอ่านสรุปหรือเขียนเรียงความได้ สะท้อนถึงการไม่เน้นข้อสอบอัตนัยเป็นการไม่ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ภาษา เรื่องนี้ สพฐ.ต้องร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ (กศน.) พัฒนาหลักสูตร ความรู้และการทดสอบวัดผลภาษาไทยที่ดีควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ตนจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ถึงการนำการทดสอบความรู้ภาษาไทยที่ใช้กับชาวต่างชาติมาทดสอบกับเด็กด้วย.

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

กรณี ม.6 8 เดือน

 “ประเสริฐ” แจงจบ ม.6 ใน 8 เดือน มีเป้าหมายชัดเปิดโอกาสให้นำความรู้-ประสบการณ์มาเทียบโอนได้ ระบุเพื่อแก้ปัญหาเข้าใจผิดเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เทียบระดับการศึกษาขั้นสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” แทนแล้ว ขณะที่ เลขาธิการ กอศ.ระบุ รมว.ศึกษาฯห่วงเหตุพบเด็กบางคนเรียน ปวช.ไม่ไหวและลาออกไปเรียนโครงการ กศน.แทน พอจบก็มาสมัครเรียน ปวส.ทั้งที่เพื่อนยังอยู่แค่ ปวช.2 เท่านั้น หวั่นปล่อยไว้เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษา
       
       จากกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่าอาจต้องมีการทบทวนโครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาจบ ม.6 ใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เนื่องจากปัจจุบันมีนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่เรียนไม่ไหว หรือไม่อยากเรียนหนีมาเรียนโครงการดังกล่าวของ กศน.จากนั้นก็มาสมัครเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ก็มีปัญหาเรียนไม่ได้จึงต้องการให้ กศน.กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าโครงการให้ชัดเจนโดยอยากให้เน้นผู้เรียนที่มีประสบการณ์การทำงานไม่ใช่เด็กที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วดิ่งมาเรียนในโครงการดังกล่าวเลยนั้น
       
       นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการ กศน.กล่าวว่า ความจริงแล้วโครงการดังกล่าวไม่ได้จบง่ายอย่างที่ประชาชนเข้าใจ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ต้องการเปิดโอกาสให้คนที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในอาชีพได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นมาเทียบระดับได้ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งระดับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้สามารถเทียบระดับการศึกษาแบบข้ามชั้นได้ ไม่จำเป็นต้องเทียบทีละระดับเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อท้วงติงว่าการใช้ชื่อเดิมนั้นอาจจะส่งผลให้ประชาชนเข้าใจความหมายผิดได้ กศน.จึงเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่จากคำว่า “จบ ม.6 ใน 8 เดือน” มาเป็น “เทียบระดับการศึกษาขั้นสูงสุดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” แทนแล้ว 
       
       “ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเทียบระดับกับ กศน.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนแต่ต้นคือต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีอาชีพที่มั่นคงและประสบความสำเร็จในอาชีพนั้น ที่สำคัญจะต้องมีความรู้ ความสามารถที่จะนำมาเทียบระดับ เพราะการจบต้องจบอย่างมีคุณภาพ ต้องผ่านการทดสอบ 9 มาตรฐานวิชาโดยต้องผ่านในสัดส่วน 60% ในทุกมาตรฐาน สำหรับ 9 มาตรฐานวิชาที่ กศน.กำหนดไว้ ได้แก่ 1.การใช้คอมพิวเตอร์ 2.คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน 3.การบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีได้ 4.ระบอบประชาธิปไตย 5.การบริหารจัดการชุมชน 6.การสนทนาภาษาอังกฤษหรือจีน 7.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 8.การวิจัยชุมชน และ 9.การจัดการอาหารเพื่อครอบครัวและชุมชน” นายประเสริฐ กล่าว
       
       ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็ก ปวช.จำนวนหนึ่งที่เข้ามาเรียนได้สักพักก็เรียนไม่ไหวตัดสินใจลาออกไปอยู่บ้านเฉยๆ รอจนอายุครบ 18 ปี ก็ไปสมัครเรียนกับ กศน.ตามโครงการเรียนจบ ม.6 ใน 8 เดือน ทำให้จบ ม.6 ก่อน ในขณะที่เพื่อนๆ ยังเรียนอยู่ ปวช.ปี 2 และไปสมัครเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งเท่ากับว่าเด็กเหล่านี้เรียนเร็วกว่าเพื่อน 1 ปี ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงเป็นห่วงว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อาจจะเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาได้ จึงอยากให้ กศน.กลับไปดูเจตนารมณ์ของการดำเนินโครงการดังกล่าวใหม่ ดยอาจจะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์บางข้อ เช่น คนที่มาเรียนในโครงการนี้ อาจจะต้องมีประสบการณ์การมีงานทำมาแล้ว หรือกำหนดอายุผู้ที่สมัครเข้าเรียนใหม่ เป็นต้น
        

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความรู้เบื้องต้นการนำเสนองาน

การนำเสนอเป็นหนึ่งในทักษะที่ครูในทุกสถานศึกษาควรต้องมี เพราะการนำเสนอเป็นศาสตร์และศิลป์สำหรับใช้ในการสอนหรือการถ่ายทอดเรื่องราวสู่ผู้เรียน หรือในการนำเสนอผลงาน แผนงาน โครงการและความคิดต่างๆ ต่อกลุ่ม ต่อเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชา การนำเสนอที่ดีจึงต้องคำนึงถึงการเลือกรูปแบบ วิธีการและขั้นตอนของการนำเสนอให้เหมาะสม นอกจากนี้ตัวตนของผู้นำเสนอก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่จะนำกระบวนการนำเสนอไปสู่ความสำเร็จ  ซึ่งต้องใช้เทคนิค วิธีการ ของการเป็นผู้พูด ผู้บรรยาย หรือผู้สรุปงานที่ดี เพราะคุณสมบัติของผู้นำเสนอจะมีอิทธิพลต่อการโน้มน้าว ชักจูงให้เกิดความสนใจ  ความไว้วางใจ  ความเชื่อถือ  และการยอมรับได้มาก และสิ่อนำเสนอ นับเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการสร้างความเชื่อมั่น การตรึงพฤติกรรมของผู้ฟังให้คล้อยตามไปกับเรื่องราวของการนำเสนอ ดังนั้นการออกแบบสื่อนำเสนอที่ดี ก็จะเป็นส่วนเสริมให้การนำเสนอนั้นน่าสนใจมีคุณค่าสูงสุด สำหรับในบทเรียนนี้จะแนะนำเทคนิคการออกแบบสื่อนำเสนอด้วยโปรแกรมMicrosoft PowerPoint ประกอบด้วยเนื้อหาในการเรียนรู้  3 บทเรียน

1. ขั้นตอนและกระบวนการนำเสนอ
2. เทคนิคการสร้าง สื่อ PowerPoint ให้น่าสนใจ
3. การเป็นผู้พูด(นำเสนอ) และการบรรยายสรุปที่ดี


 
ความหมายของคำว่า การนำเสนอ
 
การนำเสนอ คือ กระบวนการ วิธีการ เพื่อให้รู้ ให้ทราบ ให้เข้าใจ ในกิจกรรมขององค์กร ของสถาบัน ของหน่วยงาน ได้อย่างชัดเจน
 
การนำเสนอ คือ การถ่ายทอดเนื้อหา สาระที่ผสมผสานกันระหว่าง ศิลปะการพูด กับ การแสดงข้อมูล ในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อและอุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม



ลักษณะหรือประเภทการนำเสนอ

เป็นที่ทราบกันดีว่ามนุษย์สามารถรับรู้สาระ เรื่องราวได้ดีที่สุดผ่านระบบประสาททางตา (75%) รองลงมาก็คือทางการได้ยินผ่านหู (13%) แต่คนเราจะจำได้เพียง 20ของสิ่งที่ได้เห็น และจำเพียง 30ของสิ่งที่ได้ยิน แต่ถ้าหากตั้งใจรับทั้งการได้ยินและประทับใจสิ่งที่ได้เห็น มนุษย์จะจำได้สูงถึง 70เลยทีเดียว ดังนั้น หากเราสามารถสร้างสรรกระบวนการนำเสนอที่ดี ผ่านการรับรู้ด้วยตาและหู (Audio & Visual) ก็ถือเป็นกระบวนการการถ่ายทอดหรือการสื่อสารผ่านพลังของการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อีกองค์ประกอบของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้

ช่วงเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ สถานศึกษา นักการศึกษา ต่างระดมแนวคิดหาแนวทางการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีพัฒนาการในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว ได้มีการพัฒนา หาทางปรับปรุง เกี่ยวกับระบบ กระบวนการ รูปแบบการเรียนการสอน ด้วยการค้นหา พัฒนา วิธีการ แนวคิด ประยุกต์ด้วยการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ร่วมในการดำเนินการจัดการศึกษาปัจจุบันจะพบว่า สถานศึกษาต่างๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาและแพร่กระจายเนื้อหาการเรียนการสอน และพัฒนาวิธีการสอน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถนั้น สามารถเข้าถึงสังคมข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รัฐจึงได้เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา โดยกำหนดสาระหลักไว้ใน หมวด แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 แต่ทว่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในประเทศไทยนั้นยังกระทำไปได้ไม่เต็มที่ เท่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เทคโนโลยีได้ก้าวไปไกลในหลากหลายด้าน  มีเพียงสถานศึกษาไม่กี่แห่งที่มีความพร้อมในการปรับ-เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่  ซึ่งกลไกในการดำเนินการ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอย่างจริงจังนั้น อยู่ภายใต้องค์ประกอบที่สำคัญ หลายประการ อาทิ
1. บุคลากรครู โดยส่งเสริมความรู้ การฝึกอบรมครู การพัฒนาบุคลากรในทุกระดับ อย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งในความเป็นจริง บุคลากรครู นับเป็นปัจจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการศึกษาไปสู่กลไกการจัดการศึกษา แต่สภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบันพบว่า มีครูและบุคลากรทางการศึกษายังไม่ได้รับ(โอกาสหรือไม่คิดจะรับ) ในการพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านนโยบายระดับล่าง หรือผู้บริหาร ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการก้าวสู่กระบวนการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาอย่างจริงจัง
2. โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยการสนับสนุนโครงข่าย อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ต่อการเข้าถึงองค์ความรู้ ข้อมูล ข่าวสารต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในช่องทางการเข้าถึงระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบทจะมีแนวโน้มที่ลดน้อยลงก็ตาม แต่หากมามองระหว่างสถานศึกษากลับพบว่า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ ที่เป็นช่องทางการเรียนรู้ในชั่วโมงการเรียนรู้ ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก สถานศึกษาบางแห่งให้ความสำคัญที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งเน้นในการจัดสร้าง จัดหา จนเกินความจำเป็น(บางโรงเรียนก็ไม่เพียงพอต่อการเรียน) แต่ด้านการพัฒนาองค์ความรู้  ขาดการผลักดัน หรือสนับสนุนในการสร้าง พัฒนาหลักสูตร สื่อ หรือเนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ อย่างจริงจัง 
3. เครือข่าย คำว่าเครือข่ายในที่นี้ ไม่ใช่เครือข่ายทางอุปกรณ์ แต่เป็นเครือข่ายด้านสาระเนื้อหา หรือองค์ความรู้ การสร้างโครงข่ายหรือเครือข่ายการเรียนรู้ เน้นการใช้สื่อ สาระการเรียนรู้และข้อมูลร่วมกัน การก้าวไปสู่สังคมการเรียนรู้บนเครือข่ายปัจจัยสำคัญคือ ตัวข้อมูล สาระการเรียนรู้ แม้จะพบว่าจะอยู่ในสภาพมีการรวมตัวกันบ้าง ในกลุ่มสถานศึกษาบางกลุ่ม แต่ที่เห็นผล ก็มีไม่มากนัก การที่จะให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง จำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบาย หรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในหน่วยงานหรือสถานศึกษานั้นๆ ที่จะเป็นแรงผลักดันต่อสถานศึกษาด้วยกัน ในการสร้างหรือพัฒนาเว็บไซต์ และการเชื่อมโยงเว็บไซต์สถานศึกษาแต่ละแห่งในแต่ละพื้นที่เข้าเป็นกลุ่มเครือข่ายด้วยกัน นำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบ ความพร้อมของการบริหารจัดการ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความเข้มแข็งทางองค์ความรู้ ที่มีเครือข่ายร่วมมือดำเนินการพัฒนา ทำให้มีปริมาณในการพัฒนามากกว่าการดำเนินการเพียงสถานศึกษาเดียว นอกจากนี้ในการเป็นเครือข่ายทำให้สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ในทุกๆด้าน 
4. ข้อมูล องค์ความรู้ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนาสื่อ ทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ ผลักดันให้มีการพัฒนาฐานการเรียนรู้บนเว็บไซต์ ระดมสร้างข้อมูลการเรียนรู้ หรือนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา นำไปสู่การแลกเปลี่ยน แบ่งปันองค์ความรู้ ทั้งสาระ เนื้อหา หรือ สื่อ ผ่านกลไกบริหารจัดการเครือข่ายที่เข้มแข็ง  ทำให้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมและมีการใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด  
5. กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานศึกษาควรมี เว็บไซต์ ของสถานศึกษาเพื่อใช้เป็นเวทีกลางในการสร้างสรรค์ผลงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะครูร่วมกัน เป็นฐานหลักในการศึกษาหาความรู้ของผู้เรียนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา เป็นช่องทางสื่อสารระหว่างหน่วยงาน ระหว่างสถานศึกษากับผู้ปกครอง กระตุ้นให้ครูผู้สอนได้พัฒนาสาระการเรียนรู้ เช่น จัดประกวด การจัดทำสื่อในลักษณะต่างๆทั้งในแบบออฟไลน์ และออนไลน์ การให้แรงจูงใจ การสร้างจรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากสภาพแวดล้อม รวมถึงการให้รางวัล หรือการชมเชยแด่ครูผู้มีผลงานในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดแรงกระตุ้น ในการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบบอย่างอันดีต่อครูหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆได้นำไปเป็นแบบอย่างนำไปสู่การพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่เข้มแข็ง 


สักวันหนึ่ง ในระยะเวลาอีกไม่นานนัก หลักการของกระบวนการจัดการเรียนการสอน อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่ครูผู้สอนจะเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ประสบการณ์หลัก หรือ ความรู้เพียงหนึ่งเดียว ไปสู่ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ผนวกรวมกับการเป็น ผู้ชี้แนะผู้ประสานและกำหนดทิศทางของความรู้ที่ได้จากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ เช่น หนังสือเรียน ห้องสมุด ข้อมูลชุมชน สื่อสารมวลชน ฐานข้อมูลออนไลน์ไปจนถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นำประโยชน์ต่อการต่อยอดความคิด ก้าวไปสู่สังคมของการเรียนรู้ที่กว้างไกลอันเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

*ส่วนหนึ่งจาก http://www.northeducation.ac.th/etraining/courses/3/itedu/chap1/index04.phpหลักสูตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการศึกษาสำหรับครู โดย สุวัฒน์ ธรรมสุนทร


                                                                                          http://northnfe.blogspot.com

นักเรียนเป็นหัวใจของการศึกษา

“การศึกษาคือกระบวนการที่ทำให้คนและสังคมเจริญงอกงาม ยิ่งเรียนยิ่งขยัน ยิ่งเรียนยิ่งอดทน ยิ่งเรียนยิ่งซื่อสัตย์ ยิ่งเรียนยิ่งมีความกตัญญู ยิ่งเรียนยิ่งรักปู่ย่าตายาย ดูแลปู่ย่าตายาย ไปไหนก็ดูแลซึ่งกันและกัน บ้านเมืองก็จะมีแต่ความสุข” 

เนื้อหาในส่วนนี้ได้รวบรวมสาระ แนวคิด บทความของท่าน ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ที่เป็นผู้ให้นิยาม คำว่า คิดเป็น"กระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจ" โดยใช้ข้อมูล 3 ด้าน คือ ข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทาง สังคมหรือสิ่งแวดล้อม และข้อมูลทางวิชาการ ปรัชญา "คิดเป็น" มีรายละเอียดและสาระที่น่าศึกษา 

นักเรียนเป็นหัวใจของการจัดการศึกษา 

"เราสอนเด็กให้เป็นนักเรียนดีได้เราก็อิ่มเอิบใจ แต่จริงแล้วเราควรจะอิ่มเอิบใจไปกว่านั้นเหมือนเราปลูกต้นไทรแผ่ร่มเงา วันหนึ่งตอนเที่ยงเราออกไปยืนอยู่ใต้ต้นไทรของเราเพื่อพักร้อน เราก็ชื่นใจที่ร่มเงาของต้นไทรที่เราปลูกสามารถให้คนมาพักอาศัยได้ และคนที่มายืนอยู่ใต้ต้นไทรหรือนกกาคาบลูกไทรไปเป็นต้นไทร แผ่ร่มเงาให้คนได้อาศัยพักร่มเงาอีกต่อไป เหมือนกับเราทำความดี 
มันจะกระเพื่อมออกไปอีกเรื่อยๆไม่มีวันจบสิ้น"

"เยาวชนกำลังมีไฟ กำลังมีแรง กำลังมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กำลังต้องการจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาครอบครัว และบ้านเมืองการให้เรียนแต่วิชาหนังสือ โดยไม่ให้ทำงานเป็นการ บอนไซเยาวชน" 

การสอนที่ดีคือ ... การท้าทายให้เด็กกระเสือกกระสนหาความรู้ ครูไม่จำเป็นต้องเหนื่อยมากเหมือนสมัยก่อน ... ถ้าครูท้าทายเด็ก เช่น ถามว่าต้นไม้นี่มันแพร่พันธุ์ได้กี่วิธี วิธีอะไรบ้าง ทำอย่างไร โดยให้ ไปหาคำตอบ อาจจะไปหาความรู้จากห้องสมุด อาจจะไปทำจริงๆ อาจไปสังเกต ไปสอบถามความรู้ หากเด็กได้พยายามทำจริง ไปขวนขวายหาความรู้ให้ได้มา ความรู้นั้นจะซึมลึกอยู่ในตัว เป็นเลือดเป็นเนื้ออยู่ในตัว 
เราก็เห็นใจครู ... เพราะค่านิยมของสังคมให้สอนวิชาหนังสือ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้เรียนต่อได้ การถูกสอนอย่างนี้ทำให้นักเรียนรู้ผิวๆ นำไปใช้จริงได้ยาก"



วัดจันทาราม (วัดท่าซุง)








วัดท่าซุงนี่ตั้งมาก่อนสร้างกรุงศรีอยธยา 30 ปี พ.ศ.1863 ในยุคต้นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
หลวงพ่อใหญ่องค์แรก ที่เป็นผู้สร้างวัด ชื่อปานเหมือนกับหลวงพ่อปานวัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา รูปร่างหน้าตาใหญ่โต ท่านธุดงค์มาพบที่นี่เข้าแล้ว ก็เลยสร้าง วัดตรงนี้ ปลูกกุฏิหลังคามุงแฝกขึ้นมา 9 หลัง ในสมัยก่อนโน้นลำคลองนี้เป็นคลองเล็ก ลำคลองนี้มันโตสมัยที่มีเรือเมล์ เรือเขียว เรือแดงวิ่ง มีคลื่นตลิ่งมันก็พัง สมัยก่อนลำคลองเล็กใช้น้ำในคลองไไม่ได้ ต้องใช้น้ำในห้วยยเล็ก ๆ หลังวัดมีโบสถ์ขนาดเล็ก ภายในมีจิตรกรรม ฝา ผนังฝีมือช่างพื้นบ้าน เข้าใจว่าเขียนในสมัยหลัง
การสร้างวัด เป็นเรื่องพุทธประวัติ บางภาพต่อเติมจนผิดส่วน สมบัติอีกชิ้นหนึ่งของวัดคือ ธรรมาสน์ที่หลวงพ่อใหญ่สร้าง ที่วิหารมีพระปูนปั้นฝีมือพองามและมีลายไม้จำหลักขอบหน้าบันเหลืออยู่ 2 - 3 แห่ง ด้านตรงข้ามกับวัด เป็นปูชนียสถานแห่งใหม่ มีบริเวณกว้างขวางมาก พระราชมหาวีระ ถาวาโร (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) พระเถระที่มีชื่อเสียงได้สร้างอาคารต่าง ๆ มากมาย เช่น พระอุโบสถใหม่ ภายในประดับและตกแต่งอย่างวิจิตร บานหน้าต่างและประตูด้านในเขียนภาพเทวดาโดยจิตรกรฝีมือดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาตัดลูกนิมิตพระอุโบสถแห่งนี้ บริเวณโดยรอบสร้างกำแพงแก้วและมีรูปหล่อหลวง พ่อปานและหลวงพ่อใหญ่ขนาด 3 เท่า อยู่มุมกำแพงด้านหน้า มณฑป และ พระวิหารแก้ว ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลอง และ ศพของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ไม่เน่าเปื่อย 


 





 วัดจันทาราม ตั้งชื่อตามอดีตเจ้าอาวาสชื่อจันท์ (ในสมัยพระนารายณ์มหาราช นายทหารชื่อจันท์กลับจากศึกเชียงใหม่ มาตาม หาภรรยาไม่พบเลยมาบวชที่วัด ต่อมาเป็นสมภาร เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวันจันทารามตามชื่อท่านสมภาร) หรืออีกชื่อหนึ่งที่ บุคคลทั่วไปนิยม เรียกว่าวัดท่าซุง เพราะในอดีตจังหวัดอุทัยธานี มีป่าไม้มาก จึงมีการขนส่งท่อนซุงมาลงท่าน้ำซึ่งมีแม่น้ำสะแกกรัง ไหลผ่านบริเวณวัดท่าซุง เพื่อผูกเป็นแพล่องไปตามแม่น้ำ ในปี พ.ศ. 2332 หลวงพ่อใหญ่ (องค์ที่สอง) ท่านได้ธุดงค์มาปักกลดชาวบ้าน ท่าซุงมีความเลื่อมใสศรัทธา มาก ได้นิมนต์ท่านอยู่ประจำที่วัดท่าซุงนี้ ท่านก็รับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาส ที่วัดนี้มีท่านเพียงองค์เดียว ในตอนแรก สร้างเสนนาสนะเจริญรุ่งเรือง ในสมัยของท่าน และหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน ท่านได้บอกอีกว่า หลวงพ่อใหญ่ท่านบรรลุพระอรหันต์ที่วัดนี้อีกด้วย กล่าวคือ เมื่อมีชีวิตอยู่ท่านเป็นอนาคามี ก่อนจะมรณภาพท่านก็เป็นพระอรหันต์ หลวงพ่อเส็ง (หลวงพ่อขนมจีน) ท่านเป็นผู้ช่วยหลวงพ่อใหญ่บูรณะวัดในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นเจ้าอาวาสต่อจาก หลวงพ่อใหญ่ ท่านเป็นพระอรหันต์รูปที่ 2 ต่อจากหลวงพ่อใหญ่ วัดเจริญต่อมาจนถึงสมัยของหลวงพ่อเล่งและหลวงพ่อไล้ ท่านเป็นพี่น้องกัน ท่านเป็นพระทรงฌานทั้งสองรูป เมื่อจะมรณภาพทุกขเวทนามาก ท่านก็เห็นทุกข์ของการเกิด เป็นทุกข์เพราะร่างกาย เห็นคุณของคำสอนของ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านก็เป็นพระอรหันต์ก่อนมรณภาพทั้งสองรูป ต่อจากนั้นก็ถึงยุคภิกขุพานิช วัดไม่ได้บูรณะมา 47 ปี จนกระทั่ง ถึงปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) ได้มาริเริ่มบูรณะวัดอีกครั้ง อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันคือสร้างด้วยโมเสกสีขาวใสดูเหมือนแก้ว และยังมีปราสาททองคำ ศาลาฝึกสมาธิ อาคารแต่ละหลังจะมีเวลาเปิด-ปิดไม่ตรงกันและปิดช่วงกลางวัน วิหารแก้วจะเปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 9.00-11.45 น . และ 14.00-16.00 น. ลักษณะวัดท่าซุง เป็นวัดที่มีความสวยงามเป็นอย่างมาก อาทิเช่น ในวิหารแก้ว 100 เมตร จะตกแต่งประดับประดาด้วยแก้วใสวาววับ ภายใน วิหารมีโลงบรรจุองค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำเป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชนทั่วไป ถัดไปอีกด้านมีปราสาททองคำ ตกแต่งด้วยทองคำตระกาล ตา สร้างด้วยฝีมือที่ประณีตงดงาม








ความคิดเห็นจาก facebook

 

Blogger news

Blogroll

About